การสืบค้นสารสนเทศบอินเทอร์เน็ต




          
           ผู้ต้องการสืบค้นสารสนเทศจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกระบบในปัจจุบัน ควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลและฐานข้อมูลก่อน รวมทั้งการสืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            
           การสืบค้นสารสนเทศ หมายถึง กระบวนการในการค้นหาสารสนเทศที่ต้องการ โดยใช้เครื่องมือสืบค้นรูปแบบต่างๆ  การสืบค้นสารสนเทศ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
               1. การสืบค้นสารสนเทศด้วยระบบมือ (Manual System) เช่น บัตรรายการ บัตรดรรชนีวารสาร
               2. การสืบค้นสารสนเทศด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System) เป็นการสืบค้นที่สามารถกระทำได้โดยผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  ได้แก่ ฐานข้อมูล หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ และการสืบค้นสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น     

เครื่องมือช่วยค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมี 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.    Free text Search Engines
เป็น Search Engines ที่สามารถค้นได้โดยใช้คำค้นเพียงคำเดียวหรือหลายๆ  คำ  หรือค้นด้วยวลีได้ เช่นชื่อบริษัท ชื่อบุคคล ชื่อนักร้อง  วรรคตอนที่ยกมาจากบทกลอน ชื่ออาหาร ผลไม้ ชื่อเทศกาล  หรือคำภาษาต่างประเทศ เหมาะกับการค้นหาสารสนเทศเฉพาะเรื่องมากกว่าการค้นหาเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ผู้ค้นยังไม่คุ้นเคยกับประเด็นเรื่อง 
2.    Directory Search Engines
 คือ Search Engine ที่จัดทำโดยมนุษย์ โดยนำข้อมูลที่ปรากฏใน Web ต่างๆ มาจัดเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องๆ  ภายใต้แต่ละเรื่อง จะทำการแบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ  ตามลำดับจากเรื่องทั่วไป ไปสู่เรื่องที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น  ซึ่งโครงสร้างของการจัดหมวดหมู่จะถูกเตรียมไว้ก่อน จากนั้นจึงนำเว็บไซต์ต่างๆ ที่รวบรวมมาไปจัดเก็บตามหมวดหมู่ที่จัดทำไว้
3.    Meta Search Engines
Search Engines ประเภทนี้ อาจจัดได้ว่าไม่ใช่ Search Engines ที่แท้จริง  เนื่องจากไม่ได้ทำการสืบค้นข้อมูลเอง แต่จะส่งต่อคำถามจากผู้ใช้ (query) ไปให้ Search Engines ตัวอื่น  ผลการค้นที่ได้จึงแสดงที่มา (ชื่อของ Search Engines) ที่เป็นเจ้าของข้อมูลไว้ต่อท้ายรายการที่ค้นได้แต่ละรายการ
4.    Natural-language Search Engines
เป็นการพัฒนา Search Engines ให้มีความสามารถในการ นำคำค้นของผู้ใช้ไปเปรียบเทียบกับคำศัพท์อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน  เช่น ค้นด้วยคำว่า "tax revenue"  Search Engines จะดึงข้อมูลจากประเด็นที่คิดว่าเกี่ยวข้องออกมาด้วย เช่น   Financial, Business and Economic เว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมคือ Ask Jeeves (http://www.aj.com) หรือ  http://www.ask.co.uk
Search Engines ประเภทนี้จะมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อผู้ใช้ไม่ทราบว่าจะใช้คำศัพท์คำใดในการค้นหาสารสนเทศที่ต้องการ เช่น ต้องการค้นหาข้อมูลวัตถุที่ส่องสว่างที่สุดบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวมาก่อน สามารถทำการค้นโดยการถามคำถามว่า " What is the brightest object in the night sky?"  Search Engines จะทำการค้นหาคำตอบให้ได้
 
   5.    Resource or Site-specific Search Engines
            เป็นกลุ่มของ Search Engines ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ค้นหาข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เน้นการรวบรวมทั้งในระดับกว้างและลึกของสาขาวิชาที่รับผิดชอบ  ข้อมูลที่จัดเก็บมักไม่มีใน Search Engines ทั่วๆ ไป เช่น https://scholar.google.co.th  
 MEDLINEplus (http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/)
Shareware (https://software.com/windows/)

การทำงานของ Search Engine

Search engines มีกระบวนการทำงาน   คือ
  1. ใช้โปรแกรมรวบรวมเอกสารเว็บ (spider หรือ  crawler) สำรวจและอ่านหน้าเว็บจากโดเมนต่างๆ  และหากพบ links ก็จะทำการติดตาม links ภายใน site จนครบ ซึ่งจากการทำงานในลักษณะโยงใยนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า spider หรือ crawler จากนั้น spider จะนำข้อมูลเว็บดังกล่าวไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ Search Engineและ spider จะกลับไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 1 หรือ 2 เดือน เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลง
   2.  จัดทำรายการดรรชนี  
ข้อมูลที่โปรแกรม spider พบจะถูกทำสำเนาและส่งมาจัดเก็บที่รายการดรรชนี (index  หรือ catalog) ตามบัญชีดรรชนีที่ (มนุษย์) กำหนดไว้
หากข้อมูลที่เว็บต้นฉบับมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสมุดดรรชนีจะเปลี่ยนแปลงด้วย  
3. โปรแกรมสืบค้น (Search engine software  จะเป็นโปรแกรมส่วนที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อเข้าใช้บริการ  จะทำหน้าที่ในการค้นคืนข้อมูลจากฐานข้อมูลของ search engine   จะเริ่มต้นการทำงานเมื่อผู้ใช้ป้อนคำค้น    โปรแกรมจะนำคำค้นของผู้ใช้ไปจับคู่กับดรรชนีในฐานข้อมูลแล้วทำการดึงข้อมูล (เอกสารเว็บที่ตรงกับคำค้นออกมาและจัดลำดับผลการค้นตามระดับความเกี่ยวข้องที่โปรแกรมประเมินได้  แต่ละตัวจะใช้ตรรกะที่แตกต่างกันไป

กลยุทธ์การสืบค้น

              การสืบค้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการมากที่สุด มีกลยุทธ์ในการสืบค้นสารสนเทศ ดังนี้
1.    แจงปัญหา หรือ โจทย์ หรือ หัวข้องานวิจัย หรือ หัวข้อที่จะทำการสืบค้น
เมื่อผู้สืบค้นทราบความต้องการ ปัญหา หรือโจทย์ ให้นำปัญหา หรือ โจทย์ หรือ หัวข้องานวิจัย นั้นมาแจงให้ละเอียด เพื่อทำการวิเคราะห์ถึงความต้องการในการค้นหาที่แท้จริง เช่น
การละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดิจิทัลส่งผลต่อตลาดสารสนเทศดิจิทัลอย่างไร
พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ เป็นต้น
2.    การวิเคราะห์ปัญหาหรือโจทย์
การในสืบค้นสารสนเทศ ผู้สืบค้นต้องทำการวิเคราะห์ปัญหาหรือโจทย์ให้ได้ว่า ใคร วิธีการอย่างไร เพื่ออะไร เพื่อนำไปสู่การคัดแยกคีย์เวิร์ดต่อไป
3.    คัดแยก keyword ออกจากโจทย์
               การเตรียมคีย์เวิร์ด (Preparing your keywords) ควรจะเป็นคํานาม (Noun)  คําพ้องความหมาย คําเหมือนคําคล้าย (Synonym) เชน woman female lady girl เป็นต้น


               ตัวอย่างการคัดแยกคีย์เวิร์ดออกจากโจทย์ เช่น

การกำจัดศัตรูพืชด้วยน้ำสะเดาหรือตะไคร้


 





 
การกำจัด+ศัตรูพืช    น้ำสะเดา   ตะไคร้

Pesticide   Neem   Lemon grass

Pesticide AND (Neem OR Lemon grass)

4.     การแปลง keyword เป็นภาษาที่ใช้ในการสืบค้น
               ในการสืบค้นสารสนเทศ เสิร์จ เอนจิ้นบางตัวสามารถทำงานได้ดีบนภาษาอังกฤษ และสารสนเทศที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีปริมาณมากกว่าภาษาไทย ผู้สืบค้นจึงมีความจำเป็นต้องสืบค้นด้วยภาษาอังกฤษ และสำหรับเครื่องมือในการแปลงคีย์เวิร์ดจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษนั้น ผู้สืบค้นสามารถใช้โปรแกรมแปลภาษาหรือเว็บไซต์สำหรับแปลภาษาช่วยได้ เช่น Google Translate (https://translate.google.co.th) หรือ ดิกชันนารีออนไลน์ Lexitron (http://www.thaitux.info/dict) เป็นต้น
5.     เทคนิคและวิธีการสืบค้น
ในการสืบค้น ผู้สืบค้นสามารถใช้ตัวช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นได้ ดังนี้
   5.1  เครื่องหมายที่ใช้ร่วม หรือ ช่วยในการสืบค้น 
            เครื่องหมาย “*”
              ความหมาย    ใช้ละตัวอักษรตั้งแต่ศูนย์ตัวอักษรเป็นต้น ไป วางไว้ในตำแหน่งท้ายคำ
              หน้าที่           ไม่แน่ใจในตัวสะกด หรือ จำตัวสะกดได้ บางส่วน คำมีหลายรูปแบบ เช่น คำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท เช่น educator, education, educational, educationally เป็นต้น
          เครื่องหมาย “...”
              ความหมาย    ค้นกลุ่มคำ หรือ วลี เช่น “Reading Promotion”
              หน้าที่           ค้นตรงตามที่พิมพ์
          เครื่องหมาย (...)
              ความหมาย    จัดลำดับคำค้น
              หน้าที่           ใช้กำหนดลำดับการสืบค้น ให้ค้นคำใน วงเล็บก่อน เช่น Material AND (Book OR Magazine)
5.2    การใช้ตัวเชื่อม(Operators) เพื่อสร้างเงื่อนไขในการสืบค้น
AND/และ         ต้องพบทุกคำ  เช่น  ข้าวเหนียว AND ข้าวเจ้า
OR/หรือ          พบอย่างน้อยหนึ่งคำ  เช่น เด็ก OR เยาวชน
NOT/ไม่                    ไม่ต้องการให้พบ เช่น ผู้พิการ NOT หูหนวก
           6. สร้างรูปแบบและวิธีการในการสืบค้น
                   Basic search  ใช้ทุกคำค้น ค้นจากทุกเขตข้อมูล ผลลัพธ์การสืบค้นจะมีปริมาณมากและกว้าง
                   Advanced search โดยพิมพ์คำ หรือ วลี และสร้างเงื่อนไขในการสืบค้นของคำเหล่านั้น ด้วยคำเชื่อม (operators) เช่น (สะเดา OR ตะไคร้) AND การกำจัด AND (ศัตรูพืช OR วัชพืช) เป็นต้น โดยเลือกจำกัดการสืบค้น เฉพาะเขตข้อมูล (fields) ที่ต้องการ เช่น subjects, publication type และ Full Text เป็นต้น ผลการสืบค้นไม่มากและแคบกว่า Basic search
           7.  การคัดกรองผลการสืบค้น (Refining your search result) การคัดกรองผลการสืบค้น (Refining your search result) ทําได้โดยการคัดกรองผลการสืบค้นหรือจํากัดผลการสืบค้นให้แคบลงได้โดย

                   การเพิ่มคีย์เวิร์ด (Adding more keywords)
                   การเลือกหัวเรื่องที่ต้องการ (Choosing your subjects)
                   การกําหนดปีที่พิมพ์ (Limiting a search by publication year)
                   การกําหนดเขตข้อมูล (Specifying fields)
                   ประเภทสิ่งพิมพ์ (Publication types)
           8. การวิเคราะห์ผลลัพธ์การสืบค้น
               8.1 ผลลัพธ์ที่ สัมพันธ์ หรือ ตรงประเด็น กับเรื่องที่ สืบค้น
                   - พิจารณาจากผลลัพธ์ที่ได้รับและกำหนดว่า พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้จากการสืบค้นในครั้งนี้ หรือไม่
                   - ถ้าพอใจกับผลลัพธ์ที่พบนั้น เลือกเอกสารที่ เนื้อหาตรงประเด็นกับหัวเรื่องที่สืบค้นมากที่สุด
               8.2 ผลลัพธ์ที่ไม่สัมพันธ์หรือไม่ ตรงประเด็นกับเรื่องที่สืบค้น
                   - ตรวจสอบความถูกต้องของคำสะกด และตัด คำที่ไม่จำเป็นออกไป
                   - เพิ่มความถูกต้องความแม่นยำให้กับคำที่ใช้ ในการสืบค้น เช่น ใช้พจนานุกรม เป็นต้น
                   - ทบทวนการเลือกฐานข้อมูลที่ใช้ในการสืบค้น เหมาะสมกับหัวข้องานวิจัยของเราหรือไม
               8.3 ผลลัพธ์การสืบค้นพบมากหรือน้อยเกินไป
                   - เพิ่มหรือขยายการสืบค้นให้ได้ผลลัพธ์ที่ ครอบคลุมกว้างขึ้น โดยใช้ AND เพื่อเพิ่มจำนวนผลลัพธ์เพียงเล็กน้อย หรือ ใช้ OR เพื่อเพิ่มจำนวนผลลัพธ์ให้มากขึ้นกว่า AND
                   - เพิ่มความแม่นยำให้กับคำที่ใช้ในการสืบค้น โดยเพิ่มการใช้ AND และลดการใช้ OR ให้น้อยลง
การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่ง

           การตรวจสอบความน่าเชื่อของแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่สืบค้นมาได้ผู้สืบค้นสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้จาก 12 องค์ประกอบ
               1. บอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์
               2. การเสนอเนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์
               3. เนื้อหาเว็บไซต์ไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม
               4. มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความหรือผู้ให้ข้อมูลบนไซต์
               5. มีการให้ที่อยู่ (e-mail address) ที่ผู้อ่านสามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้
               6. มีการอ้างอิงหรือระบุแหล่งที่มาของข้อมูลของเนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์
               7. สามารถเชื่อมโยง (link)ไปเว็บไซต์อื่นที่อ้างถึงได้
               8. มีการระบุวันเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
               9. มีการระบุวันเวลาในการปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด
               10.มีช่องทางให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น
               11.มีข้อความเตือนผู้อ่านให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์
                   12.มีการระบุว่า เป็นเว็บไซต์ส่วนตัวหรือระบุแหล่งที่ให้การสนับสนุนในการสร้างเว็บไซต์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การใช้สารสนเทศและการสังเคราะห์ (Use of Information and Synthesis)

แหล่งสารสนเทศและการประเมิน

Big 6 Skills กับการรู้สารสนเทศ