Big 6 Skills กับการรู้สารสนเทศ



Big 6 Skills กับการรู้สารสนเทศ

แนวคิด
เมื่อบุคคลเกิดปัญหาสารสนเทศในชีวิตประจำวัน บุคคลควรสามารถแก้ปัญหาสารสนเทศด้วยตนเองได้จึงจะถือว่าเป็นผู้รู้สารสนเทศ การแก้ปัญหาสารสนเทศดังกล่าวเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติสามารถทำได้หลายวิธี Big 6 Skills ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนแก้ปัญหาสารสนเทศได้อย่างมีขั้นตอนและเข้าใจง่าย



Big 6 Skills กับการรู้สารสนเทศ
การรู้สารสนเทศ หรือ Information Literacy หมายถึง การที่บุคคลตระหนักได้ว่าเมื่อใดต้องการสารสนเทศ และมีความสามารถในการระบุแหล่งสารสนเทศ สามารถค้นหา ประเมินคุณค่า รวมถึงสามารถใช้สารสนเทศที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบุคคลที่มีทักษะดังกล่าวเรียกว่า ผู้รู้สารสนเทศ หรือ Information Literate”
ปี 1990 Big 6 Skills ถูกพัฒนาขึ้นโดย Mike Eisenberg และ Robert Berkowitz โดยนำหลักการเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศมาพัฒนาเป็นทักษะประกอบด้วย 6 ทักษะหลักและ 12 ทักษะย่อยเพื่อการรู้สารสนเทศสำหรับผู้เรียน เมื่อนำมาสู่การปฏิบัติจะประกอบด้วยกิจกรรม 6 ขั้นตอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้เรียนหรือบุคคลสามารถแก้ปัญหาสารสนเทศ ตัดสินใจเกี่ยวกับแหล่งสารสนเทศ และนำสารสนเทศนั้นไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหาและขอบเขตของงาน (Task Definition)
ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม (ทักษะย่อย) ได้แก่  
1. กำหนดปัญหาสารสนเทศ
2. ระบุว่าสารสนเทศที่ต้องการมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด
            ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
                   1. สิ่งที่ต้องการทำอะไร
                   2. เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะทำหรือไม่
                   3. คำถามที่ต้องหาคำตอบมีอะไรบ้าง
                   4. ต้องการรู้อะไรบ้าง (แง่มุม/ขอบเขต) เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
                   5. ประเภทของสารสนเทศที่ต้องการ
                   6. สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดกลยุทธ์ในการสืบค้น  (Information Seeking Strategies)
          ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
                    1. ระดมสมองว่ามีแหล่งใดบ้างที่น่าจะพบสารสนเทศที่ต้องการ 
                    2.ประเมินแหล่งสารสนเทศว่าแหล่งใดดีที่สุด
          ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
1. เริ่มต้นค้นหาสารสนเทศอย่างไร
2. ถามจากใครจึงจะได้สารสนเทศ
3. แหล่งสารสนเทศที่ดีที่สุดที่จะใช้คืออะไร
4. ประเภทของสารสารสนเทศที่ต้องการ เช่น ข้อมูล รูปภาพ ทัศนคติ เป็นต้น  
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดแหล่งที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้  (Location and Access)
           ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
                    1. เข้าถึงแหล่งสารสนเทศ
2. สืบค้นสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศ 
ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
1. สามารถเข้าถึงแหล่งสารสนเทศนั้นจากที่ไหนบ้าง 
2. มีวิธีสืบค้นอย่างไร
3. สารสนเทศจะปรากฏอยู่ที่ไหน ภายในแหล่งนั้นๆ 
ขั้นตอนที่ 4 การนำสารสนเทศไปใช้ (Use of information)
          ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
               1. อ่านหรือดูสารสนเทศเพื่อตัดสินใจว่าส่วนใดที่ต้องการนำมาใช้ หรือส่วนใดที่ไม่ต้องการ
               2. สกัดเอาเฉพาะสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
1. สารสนเทศประเภทใดบ้างที่ได้มา
2. สารสนเทศนั้นตอบปัญหาสารสนเทศของเราได้หรือไม่
3. จะจดบันทึกสารสนเทศนั้นๆ อย่างไร
4. สารสนเทศนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesis)
           ขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
1. จัดหมวดหมู่สารสนเทศที่ได้จากแหล่งต่างๆ
2. นำเสนอสารสนเทศ
ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
1. ประมวลสารสนเทศที่ได้ทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างไร
2. เขียนโครงร่างในการนำเสนออย่างไร
3. นำเสนอสารสนเทศ (ต่อผู้สอน) เพื่อตอบปัญหาสารสนเทศนั้นอย่างไร
4. ได้จดบันทึกแหล่งที่มาของสารสนเทศแต่ละชิ้น เพื่อนำมาเขียนบรรณานุกรมหรือไม่
ขั้นตอนที่ 6 ประเมินผล (Evaluation)    
          ขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
1. ประเมินประสิทธิภาพของผลลัพธ์ที่ได้
2. ประเมินกระบวนการแก้ปัญหาสารสนเทศ
ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้
1. แก้ปัญหาสารสนเทศได้หรือไม่
2. สารสนเทศนั้นถูกเขียนหรือนำเสนอเป็นที่เข้าใจหรือไม่
3. ครั้งต่อไปจะทำในสิ่งที่ต่างออกไปหรือ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
4. ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
5. พึงพอใจต่อผลลัพธ์หรือไม่ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การใช้สารสนเทศและการสังเคราะห์ (Use of Information and Synthesis)

แหล่งสารสนเทศและการประเมิน